Norway, Battle of; Norwegian Campaign (1940)

ยุทธการที่นอร์เวย์, การรณรงค์ที่นอร์เวย์ (๒๔๘๓)

​​​     ยุทธการที่นอร์เวย์หรือการรณรงค์ที่นอร์เวย์เป็นการรบที่เกิดขึ้นในยุโรปเหนือในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* นับเป็นการรุกรานที่ แท้จริงของการยุทธ์บนภาคพื้นทวีปยุโรป โดยเยอรมนีบุกโจมตีนอร์เวย์เพื่อเข้ายึดครองเส้นทางยุทธศาสตร์ทางทะเลเหนือ ยุทธการครั้งนี้เป็นการรบระหว่างกองทัพอากาศเยอรมันกับกองทัพเรืออังกฤษ ทั้งยังมีการส่งพลร่มจากเครื่องบินลำเลียงของเยอรมันร่วมปฏิบัติการด้วย การบุกนอร์เวย์เกิดขึ้นในวันที่ ๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๐ และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน โดยฝรั่งเศสและอังกฤษถอนกำลังและอพยพทหารฝ่ายพันธมิตรออกจากนอร์เวย์และเดนมาร์ก ชัยชนะของเยอรมนีในการยึดครองนอร์เวย์และเดนมาร์กทำให้เยอรมนีหันไปบุกฮอลแลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศสตามลำดับ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๐ ภาคพื้นทวีปยุโรปทั้งหมดก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๐ นอร์เวย์เป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายสันติ แต่ที่ตั้งของประเทศก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั้งสำหรับเยอรมนีและอังกฤษ หากอังกฤษควบคุมกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียได้ก็จะสามารถใช้ฐานทัพเรือของนอร์เวย์ที่ เมืองท่าเบอร์เกน (Bergen) นาร์วิก (Narvik) ทรอนด์ไฮม์ (Trondheim) โจมตีกองทัพเรือเยอรมันในทะเลเหนือ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อกองทัพเรือเยอรมันในทะเลบอลติกด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นการขัดขวางการลำเลียงสินแร่เหล็กและวัตถุดิบอื่น ๆ จากสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเยอรมัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi)* ก็ตระหนักถึงภัยการคุกคามดังกล่าวและตั้งใจจะบุกนอร์เวย์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๔๐ อย่างไรก็ตาม ในตอนปลาย ค.ศ. ๑๙๓๙ พลเรือเอก แรเดอร์ (Raeder) ผู้บัญชาการกองทัพเรือเยอรมันได้หารือและวางแผนกับวิดคุน คิสลิง (Vidkun Quisling) ผู้นำพรรคฟาสซิสต์นอร์เวย์เพื่อเข้ายึดครองนอร์เวย์ โดยคิสลิงจะก่อการปฏิวัติที่ปราศจากการนองเลือดขึ้นและขอให้เยอรมนีช่วยคุ้มครอง แต่แผนดังกล่าวต้องล้มเลิกเพราะคิสลิงไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาว นอร์เวย์มากนัก อย่างไรก็ตาม แรเดอร์ได้ขอให้ฮิตเลอรพิจารณาเรื่องการบุกนอร์เวย์โดยเร็ว
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๐ ฮิตเลอร์จึงมีคำสั่งให้จัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการเวเซรือบุง (Weserübung) เพื่อเข้ายึดนอร์เวย์และเดนมาร์ก โดยกำหนดบุกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นสหภาพโซเวียตก็กำลังปฏิบัติการโจมตีฟินแลนด์ครั้งที่ ๒ ในสงครามที่เรียกว่า "สงครามฟินน์-โซเวียต" (Finn-Soviet War) อังกฤษและฝรั่งเศสจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะใช้กำลังรบนอกประเทศ (expeditionary forces) เข้าควบคุมเมืองท่านาร์วิกของนอร์เวย์ เพราะเป็นต้นทางลำเลียงสินแร่เหล็กจากสวีเดนไปเยอรมนี รวมทั้งการจะหนุนช่วยฟินแลนด์ด้วย ข่าวแผนการเตรียมการดังกล่าวรั่วไหลและมีส่วนทำให้เยอรมนีหันมาทบทวนเรื่องการบุกนอร์เวย์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เรือพิฆาตของอังกฤษสกัดกั้นเรือส่งสัมภาระของเยอรมันที่บรรทุกเชลยศึกอังกฤษจำนวน ๒๙๙ คนได้ ณ บริเวณน่านน้ำของนอร์เวย์ และช่วยเหลือให้กลับอังกฤษได้ ก่อนหน้านั้นนอร์เวย์ได้ตรวจค้นเรือส่งสัมภาระดังกล่าวแต่ไม่พบเชลยศึก เพราะนักโทษถูกซ่อนไว้ใต้ดาดฟ้า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เยอรมนีเห็นว่านอร์เวย์ไม่เข้มแข็งพอเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดน่านน้ำของประเทศ และเชื่อว่าอังกฤษเตรียมการจะเข้าครอบครองนอร์เวย์ ในวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ฮิตเลอร์จึงแต่งตั้งพลเอก นิโคลัส ฟอน ฟอนเคลฮูร์สต์ (Nikolas von Fonkelhurst) เป็นผู้บัญชาการบุกนอร์เวย์และเดนมาร์กตามแผนปฏิบัติการเวเซรือบุง ระหว่างนั้นฝ่ายพันธมิตรได้เตรียมพร้อมกับการบุกของฝ่ายเยอรมนีอย่างลับ ๆ ด้วยการวางทุ่นระเบิดไว้ตามบริเวณชายฝั่งของนอร์เวย์ เพื่อบีบเรือบรรทุกสินแร่จากเมืองท่านาร์วิกให้แล่นออกจากบริเวณชายฝั่งสู่ท้องทะเล เพื่อที่กองทัพเรืออังกฤษจะสามารถโจมตีได้สะดวก
     เยอรมนีกำหนดการบุกนอร์เวย์ไว้ในวันที่ ๒๐ มีนาคม แต่ปัญหาการเตรียมการและการประสานงานระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพอากาศและอื่น ๆ ทำใหต้องเลื่อนเวลาออกไปจนถึงวันที่ ๙ เมษายน ตามแผนปฏิบัติการ กองทัพเรือเยอรมัน ๕ กองจะเข้ายึดเมืองท่า นาร์วิก ทรอนด์ไฮม์ เบอร์เกน คริสเตียนซันด์ (Kristiansand) ออนดาลส์เนส (Andalsnes) และกรุงออสโล (Oslo) ตามลำดับโดยเรือแต่ละกองจะเดินทางในเวลาต่างกัน นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ ๖-๘ เมษายน เยอรมันจะนำกองพลน้อย ๒ กองพลคือกองพลน้อยที่ ๒๑ เพื่อเข้ายึดนอร์เวย์และกองพลน้อยที่ ๓๑ เพื่อเข้ายึดเดนมาร์ก ขณะเดียวกัน กองกำลังทางอากาศเยอรมันก็จะร่วมปฏิบัติการจู่โจมด้วย รัฐบาลนอร์เวย์ได้รับการแจ้งเตือนเรื่องการบุกของเยอรมนีในวันที่ ๔ เมษายน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร และคิสลิง นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ซึ่งชื่นชอบฮิตเลอร์มากก็พยายามปิดข่าวด้วย
     การจู่โจมของเยอรมนีทางเรือและอากาศประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสามารถยึดทรอนด์ไฮม์และออนดาลส์เนส รวมทั้งคริสเตียนซันด์และเบอร์เกนซึ่งอยู่ทางตอนกลางและทางใต้ของประเทศได้ภายในเวลาอันสั้น เมื่อเรือพิฆาตเยอรมันมุ่งขึ้นเหนือเพื่อยึดนาร์วิกอังกฤษจึงสั่งให้กองเรือของอังกฤษติดตามเพื่อค้นหาและทำลายกองเรือเยอรมัน แต่เยอรมันพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ โดยแล่นเรือตามแนวฟยอร์ด (Fjords) และเข้ายึดนาร์กวิกได้อย่างสะดวก เรือลาดตระเวนชายฝั่งของนอร์เวย์ ๒ ลำไม่ยอมจำนนจึงถูกเรือพิฆาตเยอรมันยิงจมลง ขณะเดียวกันนั้นกองกำลังเยอรมันก็สามารถยกพลเข้าในตัวเมือง ภายในเวลาหนึ่งวัน เยอรมนีก็บรรลุแผนการที่วางไว้ในการยึดเมืองท่าชายฝั่งของนอร์เวย์ได้หมด แม้จะมีการตอบโต้จากหน่วยจารชนชาวนอร์เวย์รักชาติด้วยการก่อวินาศกรรมเส้นทางคมนาคมและการสื่อสาร แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการยึดครองของเยอรมนีเท่าใดนัก คิสลิงซึ่งทำสัญญาลับกับเยอรมนีโดยอนุญาตให้กองกำลังเยอรมันเคลื่อนพลเข้าประเทศได้ก็รีบยอมแพ้ต่อเยอรมนีทันที ชื่อ "คิสลิง" จึงเป็นศัพท์ในภาษาอังกฤษซึ่งมีความหมายว่า "ผู้ทรยศ" และในเวลาต่อมาเขาก็ถูกชาวนอร์เวย์ประณามเป็นผู้ขายชาติ
     ในการบุกเดนมาร์กนั้น เยอรมนีประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะพระเจ้าคริสเตียนที่ ๑๐ (Christian X) แห่งเดนมาร์กและรัฐบาลยอมรับคำขาดของ เยอรมนีในการยึดครอง แม้จะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านบ้างที่บริเวณคาบสมุทรจัตแลนด์ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อเยอรมนี เดนมาร์กจึงถูกยึดครองอย่างง่ายดาย
     ชัยชนะของเยอรมนีมีปัจจัยหลัก ๓ ประการคือฝ่ายพันธมิตรขาดข้อมูลเรื่องแผนปฏิบัติการและการเตรียมการของเยอรมนีนอร์เวย์ไม่มีหน่วยข่าวกรอง และมีการประเมินศักยภาพเยอรมนีต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากไม่คาดว่าเยอรมนีจะกล้าท้าทายอำนาจทางทะเลของอังกฤษ และละเมิดความเป็นกลางของนอร์เวย์ส่วนนอร์เวย์ก็เชื่อมั่นในแสนยานุภาพของฝ่ายพันธมิตรจึงมั่นใจว่าเยอรมนีจะไม่กล้าลงมือปฏิบัติการที่เป็นเอกเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีบุกนอร์เวย์ อังกฤษ ดำเนินการตอบโต้และช่วยเหลือทันทีในขณะที่ฝ่ายพันธมิตรอื่น ๆ มีปฏิกิริยาตอบรับเชื่องช้า ยุทธศาสตร์ของอังกฤษคือการสกัดกั้นกองกำลังเยอรมันทุกที่ที่พบ และปลดปล่อยท่าเรือต่าง ๆ ที่เยอรมนียึดครองโดยเฉพาะนาร์วิก การปะทะกันครั้งแรกที่นาร์วิกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน เรือพิฆาตของอังกฤษ ๕ ลำสู้รบกับเรือพิฆาตเยอรมัน ๑๐ ลำ และทั้งสองฝ่ายเสียเรือไปฝ่ายละ ๒ ลำ อีก ๒ วันต่อมา อังกฤษก็สามารถยกพลขึ้นบกได้แต่ก็ประสบปัญหาอย่างมากเพราะมีอาวุธไม่เพียงพอทั้งขาดยานพาหนะและเสบียงอาหารรวมทั้งไม่ชำนาญในพื้นที่
     เยอรมนีซึ่งยึดกรุงออสโลได้ตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ได้เคลื่อนกำลังจากพื้นที่ ทางใต้มุ่งสู่พื้นที่ตอนในของประเทศและขึ้นเหนือเพื่อสมทบกับกองกำลังที่ยึดครองนาร์วิก ระหว่างทางมีการปะทะกันอย่างดุเดือดกับทหารนาวิกโยธินภูเขาของออสเตรีย เกิดการสูญเสียเป็นอย่างมากทั้งสองฝ่าย ในวันที่ ๑๕ เมษายน คิสลิงถูกปลดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีก ๓ วันต่อมารัฐบาลนอร์เวย์ชุดใหม่ก็ประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่ ๑๙ เมษายน กองพลทหารราบที่ ๑๔๖ ของอังกฤษรุกคืบหน้าจากพื้นที่ทางตอนใต้โดยมีแผนจะร่วมสมทบกับกองทหารภูเขาของฝรั่งเศสที่จะบุกไปยังทรอนด์ไฮม์และเพื่อสมทบกับกองกำลังของนอร์เวย์ที่ถอยไปทางเหนือ อย่างไรก็ตาม แผนของอังกฤษที่ยึดภาคกลางของ นอร์เวย์กลับคืนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและเยอรมนีเสริมกำลังและต้านทานไว้อย่างหนัก ในปลายเดือน เมษายน กองกำลังฝ่ายพันธมิตรก็ถูกบีบให้ถอนกำลังออกจากนอร์เวย์ทางใต้ และกองกำลังนอร์เวย์ซึ่งตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่ ดังกล่าวก็ยอมแพ้เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการหนุนช่วยของฝ่ายพันธมิตรขาดประสิทธิภาพและล่าช้า และอังกฤษซึ่งเกรงการสูญเสียจากการโจมตีของกำลังทางอากาศของเยอรมนีก็ล้มเลิกแผนการรุกทางทะเลเพื่อช่วงชิงทรอนด์ไฮม์กลับคืน
     ชัยชนะของเยอรมนีทำให้รัฐบาลนอร์เวย์และ พระเจ้าฮากอนที่ ๗ (Haakon VII ค.ศ. ๑๘๗๒-๑๙๕๗)* ต้องเสด็จหนีออกจากกรุงออสโลไปยังเมืองทรอมโซ (Tromso) ทางตอนเหนือของประเทศ ฝ่ายพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยกองกำลังของฝรั่งเศส โปแลนด์ และอังกฤษรวมทั้งนอร์เวย์ ต่างพยายามที่ จะขับไล่กองกำลังเยอรมันออกจากนาร์วิกและปิดล้อมเส้นทางลำเลียงแร่เหล็กที่ จะผ่านเข้าไปที่ท่าเรือ การรบช่วงชิงนาร์วิกเริ่มขึ้นในวันที่ ๒๖ เมษายน และในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ฝ่ายพันธมิตรก็ยึดนาร์วิกกลับคืนได้ กองทัพเยอรมันซึ่งมีนายพลเอดูอาร์ด ดีทล์ (Eduard Dietl) เป็นผู้บังคับบัญชาถูกตีล่าถอยไปยังพรมแดนสวีเดน ในช่วงเวลาที่เยอรมนีเริ่มล่าถอยนั้น ในอังกฤษก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ทางการเมืองเพราะนายกรัฐมนตรีอาเทอร์ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Arthur Neville Chamberlain ค.ศ. ๑๘๖๙-๑๙๔๐)* ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักในรัฐสภาเกี่ยวกับความล้มเหลวของนโยบายและการวางแผนการรบก็ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม วินสตันเชอร์ชิลล์ (Winston Churchill ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๙๖๕)*ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทนในวันเดียวกัน
     เยอรมนีคาดว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะยึดครองนาร์วิกไว้ตลอดไป ซึ่งจะทำให้กำลังของฝ่ายพันธมิตรทางแนวรบด้านตะวันตกไม่เข้มแข็งดังนั้นฮิตเลอร์จึงหันมาใช้ สงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkreig)* บุกโจมตีเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส แต่การบุกโจมตีของเยอรมนีทำให้ฝ่ายพันธมิตรตัดสินใจถอนกำลังออกจากนอร์เวย์ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ต่อมาในวันที่ ๗ มิถุนายน พระเจ้าฮากอนที่ ๗ และรัฐบาลนอร์เวย์ก็เดินทางออกจากประเทศไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงลอนดอน
     เยอรมนีสูญเสียทหารกว่า ๕,๕๐๐ คน ในยุทธการที่นอร์เวย์ และเครื่องบินรบกว่า ๒๐๐ ลำรวมทั้งเรือรบที่ทันสมัยจำนวนหนึ่งซึ่งทำให้กองกำลังทางเรือของเยอรมนีไม่สามารถฟื้นตัวได้อังกฤษสูญเสียทหารเกือบ ๔,๕๐๐ คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นทหารเรือและกลาสีเรือที่ประจำการอยู่ในเรือบรรทุกเครื่องบินชื่อกลอเรียส (Glorious) กับเรือพิฆาต ๒ ลำ นอร์เวย์สูญเสียทหารประมาณ ๑,๘๐๐ คนส่วนฝรั่งเศสและโปแลนด์สูญเสียทหารรวมกันประมาณ ๕๐๐ คนยุทธการที่นอร์เวย์นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามที่แท้จริงในภาคพื้นทวีปยุโรปและทำให้อังกฤษได้เข้าร่วมสงครามอย่างเต็มตั



คำตั้ง
Norway, Battle of; Norwegian Campaign
คำเทียบ
ยุทธการที่นอร์เวย์, การรณรงค์ที่นอร์เวย์
คำสำคัญ
- ฮากอนที่ ๗, พระเจ้า
- กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย
- พรรคอนุรักษนิยม
- นาร์วิก
- ดีทล์, เอดูอาร์ด
- ทรอมโซ, เมือง
- การรณรงค์ที่นอร์เวย์
- คิสลิง, วิดคุน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- เบอร์เกน, เมืองท่า
- ยุทธการที่นอร์เวย์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ฟอนเคลฮูร์สต์, นิโคลัส ฟอน
- สงครามฟินน์-โซเวียต
- คริสเตียนที่ ๑๐, พระเจ้า
- ออสโล, กรุง
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ออนดาลส์เนส
- เชมเบอร์เลน, อาร์เทอร์ เนวิลล์
- สงครามสายฟ้าแลบ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1940
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๘๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf